จากสะพานมิตรภาพไทย - ลาวที่เชื่อมจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย ไปสู่เมืองเวียงจันทร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเวลานานนับทศวรรษที่สะพานมิตรภาพฯ ได้ทำหน้าที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ลาว ที่มีมาช้านานให้เกิดความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และอีกไม่นานภายในปี พ.ศ. 2549 นี้ มิตรภาพของทั้งสองประเทศกำลังจะถูกเชื่อมโยงอีกครั้งบนสะพานข้ามแม่น้ำโขง ระหว่างชาติแห่งที่ 2 มุกดาหาร – สะหวันนะเขต
สะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างชาติไทย - ลาวแห่งที่ 2 นอกจากจะทำหน้าที่กระชับมิตรภาพไทย - ลาว แล้ว สะพานดังกล่าวจะเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมประเทศไทย - ลาว ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้อย่างสะดวกอีกด้วย เพราะที่ผ่านมาการเดินทางไปมาหาสู่ในภูมิภาคจำเป็นต้องใช้เส้นทางเดินเรือ อ้อมคาบมหาสมุทรยาวไกล สูญเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่อนาคตอันใกล้นี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรากำลังร่วมมือร่วมใจพัฒนาเส้นทางคมนาคม ให้เชื่อมเข้าหากันผ่านเส้นทางคมนาคมทางบกในแนว East - West Corridor อันจะเป็นการทะลายกำแพงอุปสรรคการเดินทางไปมาหาสู่ของประเทศเพื่อนบ้านใน ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ให้เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
นับจากปี พ.ศ. 2535 รัฐบาล ของประเทศต่างๆ ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion ;GMS) ประกอบด้วยประเทศ จีน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา และประเทศไทย ได้เห็นพ้องกันในการดำเนินการร่วมกันพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย พัฒนาระบบโครงข่ายถนนเชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม ตามแผนการเชื่อมโยงเส้นทางตะวันออก - ตะวันตก ( East West Transport Corridor : E - WEC ) อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาครอบคลุมถึงการลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ ฯลฯ ที่สำคัญ คือ การเอื้ออำนวยให้ตอนกลางของเวียดนาม ลาว ไทย และ ภาตใต้ของพม่าให้กลายเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับด้านตะวันออก ได้แก่ ภาคใต้ของจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลี และญี่ปุ่น ตลอดจนในด้านตะวันตกได้แก่ ประเทศบังคลาเทศ และภาคใต้ของอินเดีย
ปี พ.ศ. 2538 ผลการศึกษาพบว่าแนวเส้นทาง East - West Corridor เพื่อเชื่อมระหว่างประเทศพม่า - ไทย - ลาว - เวียดนาม นั้นแนวมุกดาหาร - สะหวันนะเขต - ดานัง นับเป็นแนวที่เหมาะสมที่สุด และในการประชุมระดับรัฐมนตรีโครงการ GMS มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร - สะหวันนะเขต ในขณะที่การก่อสร้างทางหลวงในไทยและเวียดนามได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ปี พ.ศ. 2540 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) ได้ให้เงินช่วยเหลือ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ศึกษาและออกแบบโครงการ East - West Corridor ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สะพานข้ามแม่น้ำโขง มุกดาหาร - สะหวันนะเขต ปรับปรุงถนนหมายเลข 9 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และปรับปรุงท่าเรือดานัง
18 มีนาคม พ.ศ. 2544 รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีแห่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้างได้ลงนามความตกลง ว่าด้วยการก่อสร้าง โดยให้แบ่งโครงการเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ตัวสะพานพร้อมถนนเชื่อมคอสะพาน (Bridge Approach) และเปลี่ยนทิศทางการจราจร (Traffic Changeover) ส่วนที่ 2 อาคารด่านควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งลาว ส่วนที่ 3 อาคารด่านควบคุมและถนนเชื่อมต่อฝั่งไทย
3 ธันวาคม พ.ศ. 2546 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แห่งราชอาณาจักรไทย และท่านบัวทอง วงลอคำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขนส่ง ไปรษณีย์และก่อสร้างแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวร่วมเป็นสักขีพยานใน การลงนามในสัญญาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำระหว่างชาติแห่งที่ 2